แปลงสำรวจหมายเลข G2/61 ประกอบด้วยแหล่งบงกชเหนือ (Greater Bongkot North: GBN)
และแหล่งบงกชใต้ (Greater Bongkot South: GBS) ซึ่งมีการผลิตก๊าซธรรมชาติ ระบบการเกิดปิโตรเลียม (รูปที่ 4) มีรายละเอียดดังนี้
หินต้นกำเนิดปิโตรเลียม (Source Rock) หินต้นกำเนิดหลักของแปลง G2/61 ได้แก่ ชั้นถ่านหินและหินดินดาน
ที่มีสารอินทรีย์สูงในชุดหินที่ 2 (FM-2) โดยที่ชั้นถ่านหินและหินดินดานดังกล่าวมีค่า TOC สูงถึงร้อยละ 53 และ 11 ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังพบว่าหินดินดานในชุดหินที่ 0 (FM-0) 1 (FM-1) และ 3 (FM-3) ก็มีคุณสมบัติเป็นหินต้นกำเนิดปิโตรเลียม
ได้เช่นกัน
ระบบการให้ปิโตรเลียม-เคลื่อนย้าย-สะสมตัว (Generation-Migration-Accumulation: G-M-A)
แหล่งบงกชใต้เป็นบริเวณหลักที่ให้ปิโตรเลียม (Main Kitchen Area) ในพื้นที่แปลง G2/61
โดยปิโตรเลียมบางส่วนเคลื่อนย้ายไปยัง
แหล่งบงกชเหนือทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนระบบการให้ปิโตรเลียม-เคลื่อนย้าย-สะสมตัว เริ่มตั้งแต่ช่วงอายุไมโอซีน
ตอนปลายถึงไพลโอซีน
หินกักเก็บปิโตรเลียม (Reservoir Rock) หินกักเก็บหลักคือ หินทรายในชุดหินที่ 2 (FM-2) ซึ่งสะสมตัว
ในสภาพแวดล้อมแบบทางน้ำ เช่น สันทราย ตะกอนรูปพัด และตะกอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เป็นต้น ส่วนหินกักเก็บรองคือ หินทรายในชุดหินที่ 0 (FM-0) และ 1 (FM-1) ซึ่งสะสมตัวในสภาพแวดล้อมแบบทางน้ำกึ่งทะเลสาบ
กลไกการกักเก็บและหินปิดกั้นปิโตรเลียม (Trap and Seal) กลไกการกักเก็บหลักประกอบด้วยการกักเก็บ
โดยโครงสร้าง (Structural Trap) เช่น โครงสร้างรอยเลื่อน (Fault Trap) และโครงสร้างปิดแบบสี่ทาง (4-Way Dip Closure) และการกักเก็บโดยชั้นหิน (Stratigraphic Trap) ส่วนหินปิดกั้นเป็นชั้นหินที่มีความพรุนและความซึมผ่านได้ต่ำ ได้แก่ หินดินดาน หินโคลน หินทรายแป้ง และชั้นถ่านหินที่แทรกสลับอยู่กับชั้นหินทรายกักเก็บ
รูปที่ 4 แบบจำลองภาพตัดขวางในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านแท่นผลิต WP16 WP23 และหลุม TNY-1X
แสดงการลำดับชั้นหินที่สัมพันธ์กับระบบการเกิดปิโตรเลียมของแอ่งมาเลย์เหนือ
ซึ่งมีการผลิตก๊าซธรรมชาติจากชุดหินที่ 2
(FM-2) เป็นหลัก