English

เอกสารประชาสัมพันธ์การประมูล

ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมทะเลอ่าวไทย


ศักยภาพปิโตรเลียมในอ่าวไทย

         อ่าวไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ประมาณละติจูดที่ 6-14 องศาเหนือ และลองจิจูดที่ 99-103 องศาตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 300,000 ตารางกิโลเมตร การสำรวจ ปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ภายใต้เงื่อนไขพิเศษตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 จึงได้โอนสิทธิการสำรวจมา อยู่ภายใต้กฎหมายปิโตรเลียม
          แหล่งผลิตปิโตรเลียมแห่งแรกของอ่าวไทย คือ แหล่งเอราวัณ เริ่มทำการผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2524 ปัจจุบันอ่าวไทยมีสัมปทานปิโตรเลียมจำนวน 22 สัมปทาน แปลงสำรวจจำนวน 29 แปลงสำรวจ และพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมจำนวน 136 พื้นที่ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ได้ว่าระบบการเกิดปิโตรเลียมในอ่าวไทยมี ความครบถ้วน โดยการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยมีทั้งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งมี ปริมาณการผลิตสะสม ณ สิ้นปี พ.ศ. 2559 ประมาณ 4,944 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นสัดส่วนการผลิตปิโตรเลียมร้อยละ 90.5 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดในประเทศ
          อ่าวไทยประกอบด้วยแอ่งสะสมตะกอนในมหายุคซีโนโซอิคที่เกิดจากรอยเลื่อนปกติ (Normal Fault) ส่งผลให้เกิดแอ่งลักษณะกราเบน (Graben) และกึ่งกราเบน (Half-Graben) แอ่งส่วนใหญ่วางตัวใน แนวเหนือ-ใต้ แอ่งทางด้านตะวันออกเป็นแอ่งสะสมตะกอนที่มีขนาดใหญ่และประสบความสำเร็จสูงสุดใน การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศ ได้แก่ แอ่งปัตตานี และแอ่งมาเลย์เหนือ ซึ่งทั้งสองแอ่งดังกล่าว มีอัตราการผลิตปิโตรเลียมในปี พ.ศ. 2559 คิดเป็นร้อยละ 73.4 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดในอ่าวไทย และคิดเป็นร้อยละ 68.6 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดในประเทศ